อำเภอเบตง

“เบตง” เปลี่ยนทางมาที่นี่ สำหรับความหมายอื่น ดูที่ เบตง (แก้ความกำกวม)
เบตง เป็นอำเภอขนาดใหญ่ในจังหวัดยะลา นับเป็นอำเภอใต้สุดของประเทศไทย ตั้งเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. 2441 คำว่า “เบตง” (Betong) มาจากภาษามลายูว่า “Buluh Betong” หมายถึง ไม้ไผ่ หรือ ไผ่ตง
แผนที่จังหวัดยะลา เน้นอำเภอเบตง

ที่ตั้งและอาณาเขต

อำเภอเบตงตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 140 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังนี้

ประวัติ

เดิมพื้นที่ที่เป็นอำเภอเบตงขึ้นอยู่กับเมืองรามันห์ซึ่งเป็น 1 ใน 7 หัวเมืองของมณฑลปัตตานี ต่อมาในปี พ.ศ. 2411 ได้ตั้งขึ้นเป็นอำเภอ ชื่อว่า อำเภอยะรม (ตั้งอยู่บ้านฮางุส หมู่ที่ 1 ตำบลเบตง) แบ่งการปกครองออกเป็น 6 ตำบล คือ ตำบลเบตง ตำบลยะรม ตำบลอิตำ ตำบลโกรเน ตำบลบาโลน และตำบลเซะ (โกร๊ะ)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2442 จากผลการปักปันแดนระหว่างไทยกับมลายา (อาณานิคมของอังกฤษ) เป็นเหตุให้ตำบลอิตำ ตำบลโกรเน ตำบลบาโลน และตำบลเซะ (โกร๊ะ) รวม 4 ตำบล ถูกตัดออกจากอำเภยะรมไปรวมอยู่กับรัฐเประในมลายา อำเภอยะรมจึงเหลือการปกครองอยู่เพียง 2 ตำบล คือ ตำบลเบตงและตำบลยะรม ต่อมาได้มีการจัดตั้งตำบลอัยเยอร์เวงและตำบลฮาลา ซึ่งจากหลักฐานปรากฏว่า มีตำบลอัยเยอร์เวงในปี พ.ศ. 2462 และมีตำบลฮาลาในปี พ.ศ. 2486

ต่อมาอีก 21 ปี ในปี พ.ศ. 2473 สมัยที่พระพิชิตบัญชาการเป็นนายอำเภอ ได้ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอจากบ้านฮางุส หมู่ที่ 1 ตำบลเบตง มาตั้งอยู่ที่บ้านกำปงมัสยิด หมู่ที่ 6 ตำบลเบตง พร้อมกับได้เปลี่ยนชื่อจาก “อำเภอยะรม” เป็น อำเภอเบตง (ที่ว่าการอำเภอหลังเก่าตั้งอยู่ใกล้กับสถานีตำรวจภูธรเบตงปัจจุบัน) และในปีพ.ศ. 2481 ได้ตั้งตำบลตาเนาะแมเราะ ปี พ.ศ. 2482 ได้ยุบตำบลฮาลาไปรวมกับตำบลอัยเยอร์เวง รวมทั้งได้ประกาศตั้งเทศบาลตำบลเบตงโดยครอบคลุมพื้นที่ตำบลเบตงทั้งหมด

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2527 กระทรวงมหาดไทยประกาศตั้งตำบลธารน้ำทิพย์ ทำให้อำเภอเบตงมีการปกครองรวม 5 ตำบล คือ ตำบลยะรม ตำบลอัยเยอร์เวง ตำบลตาเนาะแมเราะ และตำบลธารน้ำทิพย์จนถึงปัจจุบัน

ต่อมาได้ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภออีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 มาตั้งอยู่ที่ปัจจุบัน โดยมีนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานเปิดอาคารหลังใหม่

ที่มาของชื่อ

ชื่อเดิมของอำเภอเบตงคือ ยะรม มีความหมายว่า “เข็มเย็บผ้า”  ส่วนชื่อ เบตง ในปัจจุบันนั้น เป็นคำมลายู หมายถึง “ไม้ไผ่ขนาดใหญ่” คือ ไม้ไผ่ตง 

การแบ่งเขตการปกครอง

การปกครองส่วนภูมิภาค

ตำบลต่าง ๆ ของอำเภอเบตง

อำเภอเบตงแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 5 ตำบล 32 หมู่บ้าน ได้แก่

1. เบตง (Betong)
2. ยะรม (Yarom) 8 หมู่บ้าน
3. ตาเนาะแมเราะ (Tano Maero) 9 หมู่บ้าน
4. อัยเยอร์เวง (Aiyoe Weng) 11 หมู่บ้าน
5. ธารน้ำทิพย์ (Than Nam Thip) 4 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น

ท้องที่อำเภอเบตงประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น 5 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลเมืองเบตง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเบตงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลยะรม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลยะรมทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลตาเนาะแมเราะ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลตาเนาะแมเราะทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลอัยเยอร์เวงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลธารน้ำทิพย์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลธารน้ำทิพย์ทั้งตำบล

สภาพทางภูมิประเทศ

ตัวเมืองเบตงอยู่ห่างจากด่านชายแดนเบตงเป็นระยะทาง 7 กิโลเมตร เป็นเมืองที่มีความสำคัญด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้า เป็นเมืองหน้าด่านที่จะนำสินค้าเข้าออกไปยังท่าเรือน้ำลึกปีนังของมาเลเซีย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้และทิวเขาสันกาลาคีรี

ประชากร

อำเภอเบตงมีประชากร 56,471 คน ประกอบด้วยคนไทยหลากหลายเชื้อชาติ เป็นชาวไทยเชื้อสายมลายูเกือบร้อยละ 50, คนไทยเชื้อสายจีน (เช่น ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว จีนแคะ กวางสี) ร้อยละ 30 ซึ่งส่วนใหญ่ชาวไทยเชื้อสายจีนมักเป็นเจ้าของสวนยางพารา และประกอบอาชีพค้าขาย ส่วนที่เหลือร้อยละ 20 เป็นชาวไทยพุทธ อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ให้เกิดการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมที่หลากหลายได้อย่างลงตัว

ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีมัสยิดทั้งหมด 24 แห่ง  รองลงมีคือศาสนาพุทธ มีวัดทั้งหมด 6 วัด  และมีโบสถ์คริสต์อีก 1 แห่ง

ส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจ มีการทำสวนผลไม้และทำไร่ ส่วนในตัวเมืองนั้นประชากรจะประกอบอาชีพเกี่ยวกับการให้บริการด้านการท่องเที่ยว

เศรษฐกิจ

นอกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เบตงยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ยางพารา สัมโชกุน ดอกไม้เมืองหนาว ผักน้ำ เป็นต้น

ซึ่งในหมู่บ้านปิยะมิตร 2 ซึ่งมีอากาศหนาวทำให้ปลูกยางพาราไม่ได้ผล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จเยือนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 ทรงแนะนำแนวทางปลูกไม้เมืองหนาว ทำให้หุบเขาดังกล่าวเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีดอกไม้เมืองหนาวหลากสีเช่นเดียวกับบนดอยทางภาคเหนือ

ทะเบียนรถเบตง

อำเภอเบตง เป็นอำเภอที่ได้รับอนุญาตให้สามารถรับจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และคนขับรถได้ที่อำเภอ โดยไม่ต้องเข้ามาจดทะเบียนที่จังหวัดยะลา จึงเป็นผลให้รถที่จดทะเบียนจะได้รับป้ายทะเบียนรถ“เบตง” ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2468

ใส่ความเห็น